แนวทางพัฒนาเมือง กรณีศึกษาขอนแก่นโมเดล(จัดตั้งบริษัท 5 เทศบาล และ KKTS )
เมืองเปลี่ยนได้ เพราะชาวเมือง คิดวางแผนร่วมกัน
โดย ดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกสมาคมกีฬาจังหวัดอุดรธานี และเจ้าของเพจ Smart Growth Udonthani
บทความสั้นๆ ของผมเรื่องนี้อยากสะท้อนให้เห็นว่า เราสามารถเปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่ได้ หากชาวเมืองคิดและวางแผนร่วมกัน เพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะ โดยศึกษาประสบการณ์จากเมืองอื่นที่เขาประสบความสำเร็จ…..เรื่องยากๆ ก็กลายเป็นเรืองง่ายถ้าเราพร้อมใจ และร่วมมือกัน “เปลี่ยน”
การขยายตัวของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองหลักต่างๆในภูมิภาคของประเทศไทย ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมชนบทสู่สังคมเมือง และโครงสร้างของเมืองในด้านกายภาพ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ประชากรจากชนบทย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในเขตเมืองมากขึ้น เมืองขยายตัวมากขึ้น และเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ไม่มีรูปแบบการขยายตัวที่ชัดเจนเป็นไปตามยถากรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของระบบระบบนิเวศน์ มลพิษ ขยะ สาธารณูปโภคที่ไม่ทั่วถึง ปัญหาการจราจร และการจัดระเบียบในชุมชน รวมถึงการจัดระเบียบของพื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะทางเดินเท้าที่ถูกบุกรุก และพื้นผิวจราจรที่ขาดระเบียบวินัยในการใช้ถนน ปรากฏการณ์ของปัญหาต่างๆเหล่านี้นับวันยิ่งมีความเข้มข้นและชัดเจนมากขึ้น คำถามที่ชาวเมืองทุกคนต้องหาคำตอบร่วมกันคือ “เราจะปล่อยให้สังคมเมืองของเราเป็นไปอย่างนี้หรือ” “ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของเมืองที่มีข้อจำกัดทั้งการบริหารจัดการ และงบประมาณส่วนใหญ่ที่ต้องพึ่งพาจากรัฐบาลกลาง เราจะบริหารจัดการเมืองของเราได้อย่างไร”
เนื่องจากความเป็นเมืองของประเทศไทยเรามีพัฒนาการที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นใน อเมริกาเหนือ ยุโรป และอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ดังนั้นเราจึงควรที่จะศึกษาจากบทเรียนและประสบการณ์ของเมืองต่างๆ ดังกล่าวที่มีความเป็นเมือง และประสบปัญหาการบริหารจัดการเมืองมาก่อน ว่าเขาบริหารจัดการเมืองอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ
“เมืองโกเบ” ในประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนชาวเมือง ผมได้สนใจศึกษาพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ในเขตชุมชนเมืองของเมืองโกเบ โดยเฉพาะทางเดินเท้าและระบบการจราจรที่เอื้อต่อ คนเดินเท้าและรถจักรยานมากกว่า รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อให้เห็นถึงหลักการและแนวทางเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเมืองในประเทศไทย เช่น
1.ทางเดินเท้า ประเด็นที่น่าสนใจ และสำคัญมาก คือ การออกแบบของสถาปนิก และวิศวกรที่ยึดหลักการในการออกแบบที่เอื้อต่อการเดินเท้า และจักรยาน ด้วยการออกแบบพื้นผิวให้เรียบไม่สะดุด มีทางลาดลดระดับ ไม่มีสิ่งกีดขวางด้วยการจัดระเบียบของเสาไฟฟ้า และไม่มีป้ายจราจร และป้ายโฆษณากีดขวางทางเดิน และประการสำคัญคือไม่มีการวางสิ่งของหรือวางขายสินค้ารุกล้ำออกมาจากตัวอาคารด้วยความร่วมมือของชุมชนในแต่ละเขตพื้นที่ ด้วยการดูแลรักษาระเบียบและความสะอาดบริเวณหน้าบ้านของตนเอง
2.พื้นผิวจราจร ถนนทุกสายของญี่ปุ่นทุกเขตพื้นที่ ทั้งบริเวณย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองเมือง เขตชุมชนชนบท ทางหลวงท้องถิ่น และทางหลวงระหว่างเมือง จะมีระบบไฟจราจร ป้าย และเส้นจราจรที่ชัดเจน และที่สำคัญคือ ออกแบบโดยวิศวกรจราจร ที่มีความรู้โดยตรง และที่สำคัญคือ มีการปรับปรุงแก้ไขร่วมกันระหว่างชุมชน เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถยนต์ และคนเดินถนนเพื่อนำมาปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่ขับรถยนต์ท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นมาหลายครั้ง จะมีความมั่นใจและปฏิบัติตามป้ายจราจร และกฎจราจรอย่างเคร่งครัด แตกต่างจากถนนในเมืองต่างๆในประเทศไทย มักจะไม่ให้ความสำคัญกับการออกแบบ และขาดการบำรุงรักษา ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง
จากกรณีศึกษาทั้งสองหัวข้อจะเห็นได้ว่า การพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเขตชุมชนเมือง ด้วยการออกแบบพื้นที่ของทางเดินเท้า และพื้นที่จราจรให้ที่เอื้อประโยชน์ต่อ คนในชุมชนทุกเพศทุกวัย (Universal Design) ตลอดจนคนพิการ โดยให้ความสำคัญให้เกิดความปลอดภัยต่อคนเดินเท้าเป็นอันดับแรก และจักรยานเป็นลำดับต่อมา โดยให้ความสำคัญกับรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นลำดับสุดท้าย เพื่อให้เมืองพัฒนาไปสู่เมืองน่าอยู่ได้นั้น เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายผู้บริหารเมือง ที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดในการก่อสร้างและการออกแบบ และประชากรเมืองที่ให้ความร่วมมือกับผู้บริหารเมือง ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อตกลงที่มีร่วมกัน ของชุมชน โดยไม่ปล่อยให้ภาระต่างๆตกอยู่กับเทศบาล หรือผู้บริหารเมืองแต่ฝ่ายเดียว
ดังนั้นเมื่อมองย้อนกลับมายังเมืองของเราที่กำลังเผชิญปัญหาผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองอย่างเข้มข้นขึ้นทุกวัน เราสามารถเปลี่ยนเมืองของเราให้เป็นเมืองที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับลูกหลานของเราในอนาคตข้างหน้าได้ด้วยความร่วมมือกันระหว่างชาวเมือง และผู้บริหารเมือง โดยเคารพในกฎระเบียบข้อบังคับและยึดถือผลประโยชน์ร่วมกันของชาวเมืองเป็นหลัก
Related posts